วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ประวัติของสุรา



สุรา


สุรา (อังกฤษliquor หรือ spirit) หมายถึง น้ำเมาที่ได้จากการกลั่นสารบางประเภท อาทิ เอทิลแอลกอฮอล์ และเมรัย คือ น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่ให้เกิดสารบางประเภท เมื่อดื่มแล้วสารนั้นจะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง หากดื่มไม่มากอาจรู้สึกผ่อนคลายเนื่องจากสารกดจิตใต้สำนึกที่คอยควบคุมตนเองทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่เมื่อดื่มมากขึ้นก็จะกดสมองบริเวณอื่น ๆ ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด จนแม้กระทั่งหมดสติในที่สุด ทั้งสุราและเมรัยเรียกโดยภาษาปากว่า "เหล้า"
ประเทศต่าง ๆ ได้วางกฎเกณฑ์สำหรับการผลิต การขาย และการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตัวอย่างเช่น กฎหมายที่กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับผู้ที่สามารถบริโภคได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีสำหรับประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรียและสวิสเซอร์แลนด์, ไม่ต่ำกว่า 18 ปีในประเทศไทย หรือไม่ต่ำกว่า 21 ปีในสหรัฐอเมริกา
การบริโภคทั้งสุราและเมรัยเป็นข้อห้ามในข้อสุราเมรยมัชปมาทัฏฐานหรือข้อที่ 5 แห่งเบญจศีลของพุทธศาสนา ซึ่งว่า "สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ" แปลได้ว่า "เราจักถือศีลโดยเว้นจากการบริโภคสุรายาเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท"




การผลิต

การทำเมรัยอาศัยยีสต์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดหนึ่งเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ เมรัยผลิตได้จากวัตถุดิบทุกอย่างที่มีน้ำตาล แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เมรัยทำจากน้ำตาลโตนดเรียกว่าน้ำตาลเมาหรือตวาก จากน้ำตาลขององุ่นเรียกว่าไวน์ เป็นต้น มนุษย์ยังรู้จักใช้เชื้อรา (บางชนิด) เปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลได้ ทุกอย่างที่เป็นแป้ง เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ สามารถใช้ผลิตเมรัยได้ สาโท น้ำขาว อุและ กระแช่ ผลิตจากแป้ง หากต้องการให้มีฤทธิ์แรงขึ้นก็นำเอาไปกลั่นเป็นสุรา หลังจากนั้นสามารถนำไปดื่มหรือนำไปหมักหรือบ่มต่อไป


เภสัชวิทยาของเหล้า


เหล้ามีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ แม้ว่าในเหล้าชนิดต่าง ๆ ยังมีสารอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเอกลักษณ์ของเหล้าชนิดนั้น ๆ โดยเฉพาะเหล้าที่นำมาหมักดองกับสมุนไพรเพื่อปรุงแต่งสี กลิ่น รสชาติและสรรพคุณ เช่น เหล้าดองยาของไทย เหล้าเซี่ยงชุนของจีน เหล้าแคมปารี ของอิตาลี เป็นต้น สารปรุงแต่งเหล่านี้เมื่อดื่มในปริมาณมาก หรือ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อผู้ดื่มได้ แต่เมื่อดื่มในระยะเฉียบพลัน อาการต่าง ๆ ของผู้ดื่มนับได้ว่าเกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น
แอลกอฮอล์เป็นของเหลว ใส ระเหยได้ง่าย ละลายน้ำได้ดี มีกลิ่นเฉพาะตัว และ ติดไฟได้ง่าย แอลกอฮอล์เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ประกอบไปด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และ ออกซิเจน มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ความรุนแรงของการออกฤทธิ์ขึ้นอยู่กับปริมาณของแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ในกระแสโลหิต แอลกอฮอล์ที่กินได้ คือแอลกอฮอล์ชนิดเอทิล ส่วนแอลกอฮอล์ชนิดอื่นล้วนกินไม่ได้และเป็นพิษต่อร่างกายมากยิ่งไปกว่าเอทิล ถ้าเอาแอลกอฮอล์ชนิดอื่น เช่น เมทิลแอลกอฮอล์มาผสมเป็นเหล้า กินเข้าไปแล้วทำให้ปวดหัว ตาพร่า จนบอด และถึงกับเสียชีวิตได้
เมื่อกินเหล้าเข้าไปผ่านกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้เล็ก แอลกอฮอล์ในเหล้าจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย เมื่อกินอาหารมาก่อน แอลกอฮอล์ใช้เวลา 1 ถึง6 ชั่วโมง จึงจะถูกดูดซึมไปถึงระดับสูงสุดในเลือด แต่ถ้ากินเหล้าในขณะที่ท้องว่าง แอลกอฮอล์ใช้เวลาถูกดูดซึมสู่ ระดับสูงสุดในเลือด เพียง 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง แอลกอฮอล์ในร่างกายถูกกำจัดโดยตับเป็นส่วนใหญ่ (95 เปอร์เซ็นต์) ที่เหลือถูกขับออกทางลมหายใจ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ น้ำนม และน้ำลาย
แอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เกิดการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย แอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เกิดอาการอักเสบและเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ผู้ที่กินเหล้าจึงปัสสาวะบ่อย สูญเสียน้ำและรู้สึกกระหายน้ำมากในเวลาต่อมา อีกประการหนึ่ง บรรยากาศวงเหล้า ผนวกกับพลังงานที่ได้จากเหล้ามักทำให้ผู้ดื่มไม่รู้สึกอยากอาหาร ดังนั้นผู้ที่กินเหล้าเป็นนิจจึงอาจขาดสารอาหารได้ ที่สำคัญแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความเสียหายที่เนื้อตับ คนกินเหล้าจึงมีโอกาสเป็นตับอักเสบมากกว่าคนไม่กินและอาจพัฒนาไปถึงขั้นตับวายได้

เหล้ากับสุขภาพ

มีความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับฤทธิ์ของเหล้าและแอลกอฮอล์ ถูกบ้างผิดบ้าง ผู้ที่นิยมดื่มก็มักอ้างฤทธิ์อันเป็นคุณของเหล้าหรือแอลกอฮอล์มาบดบังฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดโทษซึ่งมีมากกว่าหลายเท่านัก เช่น แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้จริงแต่ไม่สามารถทำลายไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิที่ปะปนมากับกับแกล้มดิบ ๆ สุก ๆ ได้ และยิ่งไม่สามารถฆ่าพยาธิ์ตัวแก่ในลำไส้ได้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ผู้นิยมดื่มก็มักอ้างว่ากินเหล้าเพื่อให้เลือดลมดี ซึ่งก็เป็นจริงเมื่อกินเหล้าในปริมาณน้อย (ถึงน้อยมาก) แต่เมื่อกินเหล้ามาก แอลกอฮอล์จะกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้พูดจาไม่ชัด ทรงตัวลำบาก สายตาพร่ามัว ขาดสติ ตับแข็ง และอาจเกิดอันตรายนานับปการต่อผู้ดื่มและคนรอบข้าง

ตัวอย่างเหล้า  ตรา Johnie Walker

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น